ถ้าเป็นลักษณะขาโก่งเล็กน้อยที่อาจเป็นตามกรรมพันธุ์ไม่มีผลต่อความสูงครับ น้องก็จะเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่ถ้าลักษณะโก่งมากผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของกระดูกอ่อน การที่ขาโก่งมากอาจเป็นพวกโรคกระดูกบาง กระดูกจาง Rickets (โรคกระดูกอ่อน) ได้ ซึ่งอันนี้ต้อง x ray กระดูก ร่วมกับเจาะเลือด ดูประกอบกันครับ ซึ่งถ้าเป็นโรคจะมีผลต่อความสูงน้องแน่นอน แต่ถ้าโก่งเล็กน้อยแบบกรรมพันธุ์นิดหน่อยจะไม่เกี่ยวครับ
Rickets หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็ก
คือภาวะที่เนื้อกระดูกอ่อนและโค้งงอ เนื่องจากร่างกายของเด็กมีความบกพร่องในด้านพัฒนาการของกระดูก ส่วนมากมักเกิดจากการขาดหรือได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสลดลง ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของกระดูก ทำให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนและเปราะบาง ขัดขวางการเจริญเติบโต และอาจส่งผลให้กระดูกผิดรูป
โรคกระดูกอ่อนชนิดนี้พบมากในเด็กอายุ 6-36 เดือน เนื่องจากเป็นวัยที่ร่างกายกำลังพัฒนากระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกระดูกอย่างเรื้อรังหรือถาวร
อาการของ Rickets โรคกระดูกอ่อน
เด็กที่ป่วยเป็นโรค Rickets จะเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย เคลื่อนไหวช้า มีอาการเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกรานและขา มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เหน็บชาบริเวณกล้ามเนื้อ รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันขึ้นช้า มีรูบริเวณชั้นเคลือบฟัน ฟันเป็นหนอง โครงสร้างฟันเกิดความเสียหาย มีฟันผุมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีการเติบโตของกระดูกผิดปกติหรือผิดรูป เช่น กระดูกช่วงอกนูน พบปุ่มกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังคด กระดูกเชิงกรานผิดรูป ขาโก่ง หรือเข่าชนกัน เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่แผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) ยังเปิดอยู่ ซึ่งปกติส่วนนี้จะกลายเป็นกระดูกแข็งเมื่อเด็กเจริญเติบโตเต็มที่ แต่เมื่อกระดูกส่วนที่อ่อนโค้งงอไปกระทบกับการทำงานของแผ่นการเจริญเติบโต จึงอาจมีผลต่อการเติบโตของกระดูก
สาเหตุของ Rickets
สาเหตุสำคัญของโรค Rickets มาจากการขาดวิตามินดี หากเด็กไม่ได้รับวิตามินดังกล่าวตามปริมาณที่ร่างกายต้องการจะส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งการขาดวิตามินดีอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม และไข่ ในกรณีที่เป็นทารกอาจเกิดได้จากภาวะแพ้แล็กโทสหรือไม่สามารถย่อยนมได้ จึงต้องรับประทานนมชนิดอื่นที่ปราศจากน้ำตาลจากนม (Lactose) หรือแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรมีภาวะขาดวิตามินดี จึงส่งผลให้ร่างกายทารกได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอ
การไม่ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอหรือใช้ครีมกันแดดทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง จึงส่งผลต่อการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกาย
การดูดซึมในร่างกายมีความผิดปกติเนื่องมาจากภาวะต่าง ๆ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือการอักเสบของลำไส้ เป็นต้น
การรับประทานยาบางชนิดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึมวิตามินของร่างกาย อย่างยาต้านชักหรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral)
นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคกระดูกอ่อน อาจส่งต่อความผิดปกติผ่านทางพันธุกรรม ทำให้ไตของผู้ที่มียีนดังกล่าวไม่สามารถดูดซึมฟอสฟอรัสได้ รวมถึงปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และสีผิวก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Rickets ด้วยเช่นกัน โดยมีการระบุว่าทารกที่อยู่ในแถบทวีปเอเชีย แอฟริกา แคริบเบียน และตะวันออกกลางมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากเม็ดสีขัดขวางการดูดซึมวิตามินดีบริเวณผิว
การวินิจฉัย Rickets โรคกระดูกอ่อน
เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว อาหารที่รับประทาน ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์จะกดเบา ๆ บริเวณกระดูกส่วนต่าง ๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ทารกที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะพบว่ากระดูกบริเวณกะโหลกจะนิ่ม กระหม่อมอาจปิดช้า ขาโก่งมากกว่าปกติ ข้อมือและเข่ามักใหญ่และหนากว่าทารกทั่วไป ในบางรายกระดูกบริเวณซี่โครงจะแบนมีปุ่ม ซึ่งเป็นความผิดปกติของร่ายกาย ทำให้กระดูกช่วงอกนูนขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับแคลเซียม หรือการทำเอกซเรย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของกระดูก ส่วนการผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องนำชิ้นส่วนกระดูกไปตรวจอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
การรักษา Rickets โรคกระดูกอ่อน
การรักษาจะเน้นไปที่การเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุชนิดที่ร่างกายผู้ป่วยขาดไป โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง เช่น ปลา เครื่องใน ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เป็นต้น บางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานวิตามินหรือแรธาตุในรูปแบบอาหารเสริม พร้อมทั้งแนะนำให้เด็กโดนแสงแดดหรืออยู่กลางแจ้ง เพื่อให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดด
ในกรณีที่เด็กไม่สามารถรับประทานได้เองทางปากหรือมีปัญหาในการทำงานของระบบลำไส้และตับ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวิตามินดี ปีละ 1 ครั้ง โดยปริมาณของวิตามินดีและแคลเซียมจะขึ้นอยู่กับอายุและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากอาการนั้นเกิดจากการปัญหาดูดซึม เด็กอาจต้องรับวิตามินหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีกระดูกผิดรูปอย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้อยู่ในรูปทรงที่เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของ Rickets
หากผู้ป่วยโรคกระดูกอ่อนชนิด Rickets ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย กระดูกโค้งงอผิดรูป มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและฟัน ปวดกระดูกเรื้อรัง กระดูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการชักได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยได้รับวิตามินดีหรือแคลเซียมในปริมาณมากหรือได้รับติดต่อกันนานจนเกินไป อาจก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcaemia) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก เกิดก้อนนิ่วในไต มีปริมาณปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น รู้สึกกระหาย ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน วิงเวียนและปวดหัว และอาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
Comments